ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และเครื่องใช้ไฟฟ้า (สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า) และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้ง เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น และผลิตภัณฑ์พลาสติก
“มูลค่านำเข้ามีการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออก โดยนำเข้าเติบโตเฉลี่ย 8.2% ต่อปี ขณะที่ส่งออกเติบโต เฉลี่ย 2.5% ต่อปี (CAGR ระหว่างปี2560 – 2566) จึงนำไปสู่การขาดดุลการค้ากับจีนที่ส่งผลรุนแรงมากขึ้นในหลากหลายสินค้า”
โดยผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนจากการขาดดุลการค้ากับจีนคือการหดตัวของภาคการผลิต สะท้อนจากการหดตัวของ
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 ที่หดตัว 3.8% โดยภาคการผลิตที่มีอัตราการหดตัวสูง เป็นสินค้ากลุ่มเดียวกับสินค้าที่มีมูลค่าขาดดุลมาก อาทิ การผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ หดตัว18.9% การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า หดตัว 14.5% และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน หดตัว 6.7% ซึ่งการหดตัวของภาคการผลิตข้างต้น ส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงานภายในประเทศด้วย
โดยข้อมูลของกระทรวงแรงงานระบุว่า ในปี 2566 มีสถานประกอบการแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 จำนวน
656 แห่ง เพิ่มขึ้น 9.7% กระทบต่อแรงงาน 312,938 ราย เพิ่มขึ้น35.4% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นอุตสาหกรรมการผลิตถึง 524 แห่ง เพิ่มขึ้น 15.7% คิดเป็นสัดส่วน79.9% ของการหยุดกิจการชั่วคราว สำหรับสาเหตุของการหยุดกิจการ ได้แก่ มีการยกเลิกคำสั่งซื้อจำนวนมาก ขาดทุนสะสม และขาดแคลนวัตถุดิบ
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เผยแพร่ผลศึกษา“แนวทางลดการขาดดุลการค้าไทย-จีน” สาระสำคัญส่วนหนึ่งมีการนำเสนอกรณีศึกษาการรับมือกับสินค้าจีนที่เข้าไปบุกตลาดในประเทศต่างๆ ซึ่งรูปแบบการรับมือเพื่อแก้ปัญหามีหลากหลายวิธี
กรณีศึกษานโยบายและมาตรการรับมือกับสินค้าจีนของต่างประเทศของประเทศบราซิล ซึ่งเผชิญสถานการณ์ในช่วง2-3 ทศวรรษที่ผ่านมากับการนำเข้าของสินค้าจีนที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งภาคการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องจักร
“ผู้ผลิตในประเทศบราซิลต้องแข่งขันกับสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งการตอบสนองของรัฐบาลบราซิลเป็นการผสมผสานกันระหว่างการเยียวยาทางการค้า นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม การกระจายความเสี่ยงในการส่งออก การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การรับรองคุณภาพ และการส่งเสริมนวัตกรรม”
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบของการนำเข้าของจีนต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก นโยบายและกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้แก่ การเยียวยาทางการค้าและมาตรการทางภาษี เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(Safeguard Measure: SG) เพื่อจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรมและปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากผลกระทบเชิงลบจากการนำเข้าของจีน
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการแข่งขันสำหรับผู้ผลิตชาวบราซิล โดยการกำหนดอัตราภาษีหรือโควตาสำหรับสินค้านำเข้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ
นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ รัฐบาลบราซิลได้ดำเนินนโยบายและให้มาตรการสนับสนุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศที่เผชิญกับการแข่งขันจาก การนำเข้าของจีน ซึ่งรวมถึงสิ่งจูงใจทางการเงิน การลดหย่อนภาษี และเงินอุดหนุนที่มุ่งส่งเสริมการลงทุนนวัตกรรม และการยกระดับเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ
การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เช่น ท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ และเครือข่ายการขนส่งอื่น ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการขนส่ง เพิ่มการเชื่อมต่อและประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม ในประเทศสามารถแข่งขันกับการนำเข้าจากจีนได้มากขึ้น
การรับรองคุณภาพและมาตรฐาน ดำเนินการรับรองและมาตรฐานคุณภาพเพื่อให้แน่ใจว่าสินค้านำเข้ารวมถึงสินค้าจากจีน เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานคุณภาพ ซึ่งจะช่วยปกป้องผู้บริโภคและส่งเสริม ซึ่งการแข่งขันที่เป็นธรรม ทำให้สินค้านำเข้ามีคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยเช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ
การส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมภายในประเทศ และสร้างความแตกต่างจากการนำเข้าของจีนรวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมาใช้
ด้านประเทศอินเดีย ได้ดำเนินมาตรการเพื่อรองรับการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
นอกจากนี้ อินเดียยังได้เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพและข้อกำหนดการรับรองสำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้า เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของผู้บริโภคและปกป้องผู้ผลิตในประเทศ อีกทั้งยังได้ดำเนินโครงการริเริ่มเพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าผ่านโครงการ “Make in India” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนและการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ
นโยบายและกลยุทธ์ต่าง ๆ อาทิ การเยียวยาทางการค้าและมาตรการทางภาษี อินเดียได้กำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-dumping: AD) สำหรับสินค้านำเข้าของจีนหลายชนิด เช่น เหล็ก เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจะเรียกเก็บจากการนำเข้าที่ขายในราคาที่ต่ำกว่าตลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(Safeguard Measure: SG) ร่วมด้วย
ทั้งนี้ หน่วยงาน Directorate General of Trade Remedies (DGTR)จะทำหน้าที่ตรวจสอบแนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และแนะนำมาตรการที่เหมาะสมเพื่อจัดการกับการนำเข้าที่ขยายตัว
มาตรฐานคุณภาพและข้อกำหนดการรับรอง เสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพและข้อกำหนดการรับรองสำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้า รวมถึงการออกใบรับรองภาคบังคับ สำหรับสินค้าบางประเภทเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ ด้านความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของอินเดีย และช่วยปกป้องผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศจากการนำเข้าสินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
การส่งเสริมการผลิตในประเทศ ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าภายใต้โครงการ “Make in India” ตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุน นวัตกรรม และการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เภสัชกรรม และสิ่งทอ และมุ่งหวังที่จะเพิ่มขีดความสามารถการผลิตภายในประเทศเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก
นโยบายและแรงจูงใจเฉพาะ อินเดียได้เสนอนโยบายและสิ่งจูงใจสำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการมุ่งเน้น เช่น รัฐบาลได้ประกาศโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production Linked Incentives : PLI) สำหรับภาคการผลิตใน 14 อุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดแวร์ ด้านไอที โทรคมนาคม เภสัชกรรม ชุดอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ สินค้ากลุ่มโลหะและเหมือง สิ่งทอและ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดใหญ่ โดรน และเซลล์ แบตเตอรี่ที่มีส่วนประกอบเคมีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมการผลิตในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าของจีน
การทบทวนข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อินเดียได้ริเริ่มการทบทวนFTAกับประเทศหุ้นส่วน รวมถึงจีน เพื่อจัดการกับความกังวลเกี่ยวกับความไม่สมดุลทางการค้าและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
“รัฐบาลได้พยายามที่จะเจรจาเงื่อนไขของ FTA ที่มีอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่าการค้าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันทั้งสองฝ่ายและปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมในประเทศ”
หากพิจารณาจากสินค้าที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทคโนโลยี ที่การเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็วทำให้การนำเข้าสินค้าดังกล่าวมีอัตราเร่งไม่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงทางการค้าจากเดิมใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าร่วมกันแบบ วิน วิน กำลังกลายเป็นเงื่อนไขที่แม้ไม่ได้ทำให้ความสามารถการแข่งขันของไทยลดลง แต่ทำให้สินค้านำเข้าจากจีน สะดวกและไม่มีภาษี ง่ายต่อการนำเข้าเพิ่ม
ทั้งนี้ ปัญหาการขาดดุลการค้าขณะนี้ กำลังทำให้ภาคการผลิต ผู้ค้า ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต้องเผชิญการแข่งขันที่ยากและรุนแรงขึ้นเพราะจีนเข้ามาทำตลาดโดยตรงในประเทศดังกล่าว การแก้ไขด้วยการใช้หลายๆมาตรการมารวมกันน่าจะเป็นทางออกที่ดีและยั่งยืน มากกว่าการมุ่งแต่จะสกัดสินค้าจีนเพียงอย่างเดียว